วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาการชาติไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

 
 
มูลเหตุการปรับปรุงการปกครอง


นายวรเดช จันทรศร ได้สรุปถึงปัญหาที่สยามประเทศเผชิญอยู่ในขณะนั้นที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวม 7 ประการ ได้แก่

1. ปัญหาความล้าหลังของระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีรูปแบบของการจัดที่ทำให้เอกภาพของชาติตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคงระบบบริหารล้าสมัยขาดประสิทธิภาพมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและสับสนการควบคุมและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่สามารถทำได้ทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ในอันตรายและยังเปิดโอกาสให้ค่านิยมของตะวันตกสามารถเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย

2. ระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการคลังของสยามประเทศ มิได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองและเสริมสร้างพระราชอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากขาดหน่วยงานกลางที่จะควบคุมดูแลการจัดเก็บรักษาและใช้เงินรายได้แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเจ้าพนักงานขุนนางผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีรัฐ และเจ้าภาษีนายอากร ให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ได้

3. การควบคุมกำลังคนในระบบไพร่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ไพร่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่มั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ เกิดการขาดเอกภาพในชาติทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล้าหลังไพร่ไม่สามารถสะสมทางเศรษฐกิจทั้งนี้ เพราะผลเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงของมูลนาย ยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และเกิดความเสียหายต่อสยามโดยรวม

4. ปัญหาการมีทาสก่อให้เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นเครื่องชี้ความป่าเถื่อนล้าหลังของบ้านเมืองที่มีอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของลัทธิล่าอาณานิคมที่จะสร้างความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชาติด้อยพัฒนาในแง่เศรษฐกิจระบบทาสของสยามเป็นระบบใช้แรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการเป็นการพัฒนาคุณภาพกำลังคนในชาติ

5. ระบบทหารของสยามประเทศเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ และเกียรติของชาติไว้ได้เป็นระบบที่ยึดถือแรงงานของไพร่เป็นหลักในการป้องกันพระราชอาณาจักรทำให้การควบคุมประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของชาติตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง ทำให้กองทัพขาดเอกภาพขาดระเบียบวินัยอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรบไม่อำนวยให้เกิดการฝึกหัดที่ดีและการเรียกระดมเข้าประจำกองทัพล่าช้าทำให้ไม่ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอน

6. ปัญหาข้อบกพร่องของระบบกฎหมาย และการศาลที่ล้าสมัยแตกต่างจากอารยะประเทศไม่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับคนในชาติ และชาวต่างชาติบทลงโทษรุนแรงทารุณการพิจารณา ล่าช้าคดีคั่งค้างไม่สามารถรองรับความเจริญทางการค้าพาณิชย์และสภาพสังคม ได้มีหน่วยงานในการพิจารณาคดีมากเกินไป เกิดความล่าช้าสังกัดของศาลแยกไปอยู่หลายกรมเกิดความล่าช้าและไม่ยุติธรรมระบบการรับสินบนฝังรากลึกมาแต่ในอดีตปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สยามถูกกดดันทำให้เกิดความยากลำบากในการปกครองและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

7. ปัญหาด้านการศึกษาสยามประเทศก่อนปฏิรูปยังไม่มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยตรงการศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะราชวงศ์ขุนนางชั้นสูงเกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ลางเลือน ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศขาดพลังที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งยังทำให้ต่างชาติดูถูกสยามประเทศว่ามีความป่าเถื่อน ล้าหลัง


การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลาง

การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางได้จัดแบ่งหน่วยงานออกเป็นกระทรวงต่าง ๆ ตามลักษณะเฉพาะ เพื่อให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางซึ่งมีมาแต่เดิมนับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มหาดไทย กลาโหม เมือง วัง คลัง นาอันได้ใช้เป็นระเบียบปกครองประเทศไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เหตุแห่งการปฏิรูปการปกครอง และระเบียบราชการส่วนกลางในรัชการนี้ ก็เนื่องจากองค์การแห่งการบริการส่วนกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติราชการให้ได้ผลดีและความเจริญของประเทศและจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นข้าราชการเพิ่มขึ้น แต่องค์การแห่งราชการบริหารส่วนกลางยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นโดยได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ขึ้นโดยได้จัดสรรให้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ดังนี้ คือ

1. กระทรวงมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราช (ในช่วงแรก) แต่ต่อมาได้มีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมดที่มีให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย

2. กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช เมื่อมีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้วกระทรวงกลาโหมจึงบังคับบัญชาฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียวทั่วพระราชอาณาเขต

3. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) มีหน้าที่ด้านการต่างประเทศ

4. กระทรวงวัง ว่าการในพระราชวัง

5. กระทรวงเมือง (นครบาล) การโปลิศและการบัญชีคน คือ กรมพระสุรัสวดีและรักษาคนโทษ

6. กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้า ป่าไม้ เหมืองแร่

7. กระทรวงพระคลัง ดูแลเรื่องเงิน รายได้ รายจ่ายของแผ่นดิน

8. กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องศาลซึ่งเคยกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ นำมาไว้ที่แห่งเดียวกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน

9. กระทรวงยุทธนาธิการ ตรวจตราจัดการในกรมทหารบก ทหารเรือ

10. กระทรวงธรรมการ จัดการเกี่ยวกับการศึกษา การรักษาพยาบาล และอุปถัมภ์คณะสงฆ์

11. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง การช่าง การไปรษณีย์โทรเลขการรถไฟ

12. กระทรวงมุรธาธิการ มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง

เมื่อได้ประกาศปรับปรุงกระทรวงใหม่เสร็จเรียบร้อยจึงได้ประกาศตั้งเสนาบดีและให้เลิกอัครเสนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม กับตำแหน่งจตุสดมภ์ให้เสนาบดีทุกตำแหน่งเสมอกันและรวมกันเป็นที่ประชุมเสนาบดีสภา หรือเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา ต่อจากนั้นได้ยุบรวมกระทรวง และปรับปรุงใหม่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงต่างๆ ยังคงมีเหลืออยู่ 10 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงการ-ต่างประเทศ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงวัง กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงธรรมการ

                                                    

การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

ด้วยเหตุที่มีการรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองซึ่งเคยแยกกันอยู่ใน 3 กรม คือ มหาดไทยกลาโหมและกรมท่า ให้มารวมกันอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว การปฏิรูปหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคจึงมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทน (field) หรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลกลางโดยส่วนรวมทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองแบบเมืองหลวง เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชเดิม เพื่อให้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนแปลงแบบราชอาณาจักรโดยการจัดระเบียบการปกครองให้มีลักษณะลดหลั่นตามระดับสายการบังคับบัญชาหน่วยเหนือลงไปจนถึงหน่วยงานชั้นรอง ตามลำดับดังนี้

1.การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล โดยการรวมหัวเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑลตามสภาพภูมิประเทศและความสะดวกแก่การปกครอง มีสมุหเทศาภิบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลือกสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามรถสูงและเป็นที่วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งให้ไปบริหารราชการต่างพระเนตรพระกรรณ

2.การจัดรูปการปกครองเมือง มีการปกครองใช้ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดหน่วยบริหารที่ชื่อว่า "เมือง" ใหม่โดยให้รวมท้องที่หลายอำเภอเป็นหัวเมืองหนึ่งและกำหนดให้มีพนักงานปกครองเมืองแต่ละเมือง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาเมือง และมีคณะกรรมการเมือง 2 คณะ คือ กรมการในทำเนียบและกรมการนอกทำเนียบเป็นผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงเลือกสรร และโยกย้ายผู้ว่าราชการเมือง

3. การจัดการปกครองอำเภอ อำเภอเป็นหน่วยบริหารราชการระดับถัดจากเมืองเป็นหน่วยปฏิบัติราชการหน่วยสุดท้ายของรัฐที่จะเป็นผู้บริการราชการในท้องที่ และให้บริการแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง เป็นหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมท้องที่หลายตำบลเข้าด้วยกัน มีกรมการอำเภอซึ่งประกอบด้วยนายอำเภอปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอร่วมกันรับผิดชอบในราชการของอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นหัวหน้า ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายนายอำเภอ เป็นอำนาจของข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับตำแหน่งลำดับรองๆ ลงไปซึ่งได้แก่ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ และเสมียน พนักงาน ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหากท้องที่อำเภอใดกว้างขวางยากแก่การที่กรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ทั่วถึงได้และท้องที่นั้นยังมีผู้คนไม่มากพอที่จะยกฐานะเป็นอำเภอหรือกรณีที่ท้องที่ของอำเภอมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอก็ให้แบ่งท้องที่ออกเป็น กิ่งอำเภอเพื่อให้มีพนักงานปกครองดูแลได้แต่กิ่งอำเภอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอและอยู่ในกำกับดูแลของกรรมการอำเภอ

4. การจัดรูปการปกครองตำบลหมู่บ้าน อำเภอแต่ละอำเภอมีการแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นหลายตำบลและตำบลก็ยังซอยพื้นที่ออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองสุดท้ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดการปกครองระดับนี้มุ่งหมายที่จะให้ราษฎรในพื้นที่ เลือกสรรบุคคลขึ้นทำหน้าที่เป็นธุระในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเป็นทั้งตัวแทนประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน คือเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลืออำเภอ และเป็นตัวแทนของรัฐสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎร์ ตลอดจนช่วยเก็บภาษีอากรบางอย่างให้รัฐ


การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นจากต่างประเทศมา

ดำเนินการโดยริเริ่มทดลองให้มีการจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯและการสุขาภิบาลหัวเมือง รายละเอียดดังนี้

1. การจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้จัดการบำรุงท้องถิ่นแบบสุขาภิบาล ขึ้นในกรุงเทพ อันเป็นอิทธิพลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสไปดู กิจการต่าง ๆในยุโรป และเนื่องจากเจ้าพระยาอภัยราชา(โรลังยัคมินส์) ติเตียนว่ากรุงเทพฯสกปรกที่รักษาราชการทั่วไปของประเทศในขณะนั้นได้กราบทูลกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวต่างประเทศ มักติเตียนว่ากรุงเทพฯ สกปรกไม่มีถนนหนทางสมควรแก่ฐานะเป็นเมืองหลวงพระองค์ จึงโปรดเกล้าให้จัดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นโดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 ออกใช้บังคับการจัดการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล การบริหารกิจการในท้องที่ของสุขาภิบาลพระราชกำหนดได้กำหนดให้มีการประชุมปรึกษากันเป็นคราว ๆ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้รับหน้าที่ในด้านการอนามัยและการศึกษาขั้นต้นของราษฎร ได้ แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ชนิด คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล โดยสุขาภิบาลแต่ละชนิดมีหน้าที่

             1.รักษาความสะอาดในท้องที่

             2.การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่

             3. การบำรุงและรักษาทางไปมาในท้องที่

             4. การศึกษาขึ้นต้นของราษฎร

พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับได้ใช้อยู่จนกระทั่งหมดสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศและสุขาภิบาลเริ่มประสบปัญหาต่างๆ จึงทำให้การทำงานของสุขาภิบาลหยุดชะงักและเฉื่อยลงตามลำดับ จวบจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 คณะราษฎรมุ่งหวังที่จะสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จึงตราพระราชบัญญัติการจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เพื่อส่งเสริมให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลอย่างกว้างขวาง




พัฒนาการชาติไทยสมัยรัชกาลที่ 4-5-6-7 ด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

เศรษฐกิจสมัยธนบุรี-สัญญาเบาริ่ง (ร.4 2398)






- การเกษตรกรรม : ผลิตเพื่อยังชีพเหมือนเดิม

- การค้า
1. ตลาดต่างประเทศ : ค้าขายกับจีนมากที่สุด (50-85%) รองลงมาคือ ปีนังและสิงคโปร์
2. ระบบการค้ากับจีน : รัฐใช้ระบบการค้าผสมการฑูต (tributary trade) = ส่งเรือสินค้าไปกับเรือฑูต
3. ผู้ประกอบการค้า

1) นายทุนไทย : มี King เป็นนายทุนใหญ่ที่สุด เจ้าขุนนางรองลงมา คน
ไทยที่เป็นไพร่ค้าขายน้อยมากเพราะพันธนาการของระบบไพร่
2) นายทุนต่างชาติ : คนจีนเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดค้ากับไทย/ในไทยมาตั้งแต่
สมัยสุโขทัย และยังได้สิทธิเหนือคนชาติอื่นและเหนือไพร่ด้วย

ระบบเจ้าภาษีนายอากร

ซึ่งเป็นเอกชนเข้ามาช่วยเก็บภาษีส่งให้รัฐบาล ใคร
ประมูลให้ราคาสูงสุด(Tax)แก่รัฐ รัฐก็จะให้เป็นเจ้าภาษีซึ่งมีอยู่ถึง 42 ชนิดสมัย ร.3 อากรมี17 ชนิด
ส่วนใหญ่เอกชน(นายอากร)เป็นผู้เก็บแทนรัฐบาล

- เหตุที่ใช้ระบบเจ้าภาษีนายอากร

1. ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีดีกว่าให้เจ้าหน้าที่เก็บ
2. รัฐไม่ต้องสิ้นเปลือง งบประมาณในการจัดเก็บ
3. คนจีนคิดภาษีใหม่เสนอรัฐบาล


ระบบเศรษฐกิจไทยสมัย ร.6-7 (2453-75)



- เกิดความล้มเหลวในการสร้างพลังการผลิต


1.1 ความล้มเหลวที่จะสร้างผลผลิตให้สูงขึ้นทางการเกษตร สาเหตุ

1) รัฐบาลขาดความเอาใจใส่ด้านชลประทาน การทำนาส่วนใหญ่จึงอาศัยน้ำฝนซึ่งไม่ค่อยแน่นอน
2) ชาวนาภาคกลาง 36% ไม่มีที่นาเป็นองตนเอง จึงขาดกำลังที่จะปรับปรุงการผลิตให้ดีขึ้น
3) ค่าเช่านาแพงมาก ราว 1/2 1/3 ของผลผลิต
4) ขาดการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใส่ปุ๋ย ข้าวพันธุ์ดี เครื่องสูบน้ำ

1.2 การขาดการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม(ของญี่ปุ่น) เขาเริ่มพัฒนาประเทศเสมัยเมจิ  2411-2455 ตรงกับสมัย ร.5 เพียง 40 ปี ญี่ปุ่นก็ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม

เป็นมหาอำนาจ รบชนะจีนในปี 2437-8 รบชนะรัสเซียในปี 2447-8








การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน



ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต่อมาเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย


คณะราษฎรเกิดจากการรวมกลุ่มของข้าราชการและนักเรียนไทย 7 คนในฝรั่งเศสและยุโรปที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เมื่อนักเรียนเหล่านี้กลับมาเมืองไทยก็ได้ขยายกลุ่มสมาชิกภายในประเทศและขอให้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือน หลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำฝ่ายทหารบก


1. สาเหตุของการปฏิวัติ เกิดจากปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ในด้านปัจจัยทางการเมือง การปฏิรูปบ้านเมืองและปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดชนชั้นกลางที่เรียนรู้รูปแบบการเมืองการปกครองของชาติตะวันตก ทำให้เห็นว่าการปกครองโดยคน ๆ เดียวหรือสถาบันเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากไม่พอใจที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผูกขาดอำนาจการปกครองและการบริหารราชการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการให้มีการปกครองระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ บางกลุ่มต้องการให้มีการปกครองระบอบสาธารณรัฐ

ในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการดุลข้าราชการออกจำนวนมากเพื่อตัดลดงบประมาณ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรใช้โจมตีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


2. เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในวันที่ 24 มิถุนายน คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน

ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคุณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต








 
บทบาทพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อการพัฒนาชาติไทย






ด้านสังคม


(1) การควบคุมกำลังคน

เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ๆ สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก เพราะต้องใช้กำลังคนทั้งการก่อสร้างพระนครใหม่ การป้องกันบ้านเมือง และต้องการไว้รบเพื่อเตรียมทำสงคราม ฉะนั้นระบบไพร่จึงมีบทบาทสำคัญมาก

ระบบไพร่ หรือ การควบคุมกำลังคนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงอาศัยระบบไพร่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรากฐาน จากสภาพทางเศรษฐกิจที่การค้ากับต่างประเทศกำลังเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน ตลอดจนการเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตก มีผลทำให้ระบบไพร่ในสมัยนี้ลดการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดลง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานประจำ เข้าเดือน ออกเดือน รวมแล้วปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์แรงงาน 6 เดือน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 การเข้าเวรทำงานของไพร่หลวงได้รับการผ่อนปรนให้ทำงานน้อยลง โดยทำงานให้รัฐเพียงปีละ 4 เดือน สมัยรัชกาลที่ 2 ได้ลดลงอีกเหลือเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น และในจำนวนเวลา 3 เดือนที่ต้องเข้าเวรนี้ ถ้าผู้ใดจะส่งเงินมาเสียเป็นค่าราชการแทนการเข้าเวรก็ได้ เดือนละ 6 บาท ปีละ 18 บาท สำหรับไพร่สมนั้น ให้เข้ามารรับราชการด้วยเช่นกันปีละ 1 เดือน หรือจ่ายเป็นเงิน ปีละ 6 บาท

นอกจากนั้น ยังยอมให้ไพร่ที่กระทำผิดแล้วมามอบตัวจะไม่ถูกลงโทษ ให้ไพร่สามารถเลือกขึ้นสังกัดมูลนายได้ตามสมัครใจ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามแก่ไพร่หลวงทุกคน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาไพร่หลวงจะได้รับการยกเว้นอากรค่าน้ำ อากรตลาดและอากรสมพัตสร ภายในวงเงิน 4 บาท (1 ตำลึง) และจ่ายเฉพาะเงินภาษีอากรส่วนที่เกินกว่า 4 บาทขึ้นไป การผ่อนปรนกับไพร่นั้น ยังคงต่อเนื่องมาในสมัยหลัง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงยอมให้ไพร่ถวายฎีกาโดยตรงได้ ในกรณีที่ถูกข่มเหงจากมูลนาย โดยไม่จำเป็นต้องร้องเรียนผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

(2) โครงสร้างชนชั้นของสังคม

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โครงสร้างชนชั้นของสังคมยังคงคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มี 2 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นปกครอง และขุนนาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการของพระองค์เป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะดุจสมมติเทพ

พระบรมวงศานุวงศ์

พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

- สกุลยศ หมายถึง ตำแหน่งที่สืบเชื้อสายมาโดยกำเนิด ซึ่งสกุลยศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มี 3 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า

- อิสสริยยศ หมายถึง ตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานหรือเลื่อนยศให้ ซึ่งอิสสริยยศที่มีตำแหน่งสูงที่สุด คือ พระมหาอุปราช

ขุนนาง

ขุนนาง เป็นกลุ่มบุคคลที่ช่วยเหลือกิจการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขุนนางได้รับการยกเว้นการเกณฑ์แรงงาน และขุนนางในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองสูง

ไพร่

ไพร่ หมายถึง ราษฎรทั่วไปทั้งชายและหญิง ที่มิได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง และมิได้เป็นทาส นับเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดของสังคม ไพร่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่สำคัญ คือ ไพร่สม ไพร่หลวง และไพร่ส่วย เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา

ไพร่หลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับการผ่อนผันลดหย่อนเวลาเกณฑ์แรงงาน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้ไพร่เหล่านี้ได้ผลิตสินค้าเพื่อขายสู่ตลาดมากขึ้น ในสมัยนี้เนื่อง่จากการค้าเจริญรุ่งเรือง ไพร่ส่วยมีความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลเร่งเอาส่วยสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปค้าขาย นับเป็นภาระหนักอย่างหนึ่งของไพร่ จึงมีคนจำนวนมากหนีระบบไพร่ โดยการไปเป็นไพร่สมของเจ้านายหรือขุนนางผู้มีอำนาจหรือขายตัวเป็นทาส จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกาศห้ามขุนนางหรือเจ้านายซ่องสุมกำลังคน

ทาส

ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม ทำงานให้แก่นายเงินของตนเท่านั้น ไม่ต้องเข้าเวรรับราชการเช่นไพร่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้ระบุประเภทของทาสไว้ 7 ประเภท คือ

1. ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่ไถ่หรือซื้อมาด้วยทรัพย์

2. ทาสในเรือนเบี้ย คือ เด็กที่เกิดมาในขณะที่พ่อแม่เป็นทาส

3. ทาสที่ได้มาจากฝ่ายบิดามารดา คือ ทาสที่ได้รับเป็นมรดกสืบทอด

4. ทาสท่านให้ คือ ทาสที่มีผู้ยกให้

5. ทาสที่ได้เนื่องมาจากนายเงินไปช่วยให้ผู้นั้นพ้นโทษปรับ

6. ทาสที่มูลนายเลี้ยงไว้ในยามข้าวยากหมากแพง

7. ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้มาจากสงคราม

พระสงฆ์

พระสงฆ์ เป็นกลุ่มสังคมที่มาจากทุกชนชั้นในสังคม มีหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชน เป็นครูผู้สอนหนังสือและวิทยาการต่าง ๆ แก่เด็กผู้ชาย



ด้านศาสนา

(1) การสังคายนาพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการชำระสะสางพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ และจารึกลงในใบลาน คัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ปิดทองทั้งปกหน้าและด้านข้าง เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ หรือ ฉบับทองทึบ อัญเชิญประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก หอพระมนเทียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

(2) การกวดขันพระธรรมวินัย

รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายสำหรับสงฆ์ขึ้นหลายฉบับ ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของพระสงฆ์ เมื่อพบว่าพระสงฆ์รูปใดไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ก็ให้จับสึกเสีย

(3) การสถาปนาธรรมยุติกนิกาย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ ได้เสด็จออกผนวช ทรงพบว่าคำสอน และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาพุทธวิบัติไปเป็นอันมาก พระภิกษุก็มิได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน จึงมีพระประสงค์จะสังคายนาคณะสงฆ์เสียใหม่ ทรงตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2372 แต่มิได้เลิกคณะสงฆ์เดิม และเรียกคณะสงฆ์เดิมว่า ฝ่ายมหานิกาย

(4) การส่งสมณทูตไปลังกา

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ส่งสมณทูตไปลังกา ทั้งหมด 9 รูป โดยมีพระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพ เป็นหัวหน้า และได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา 6 ต้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2385 และ พ.ศ. 2387

(5) การสร้างและบูรณะวัดวาอาราม

- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต วัดนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดพระแก้ว"

- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ใช้เวลา 12 ปี ถือกันว่า เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลา 16 ปี โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และช่างทุกสาขาให้ช่วยกันชำระตำรา และจารึกไว้บนแผ่นศิลาตามเสา และผนังรายรอบบริเวณวัด เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า วัดนี้จึงจัดว่าเป็นวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย

- วัดสุทัศนเทพวราราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี หรือ พระโต

- วัดอรุณราชวราราม เดิมเรียกวัดแจ้ง รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้สร้างพระอุโบสถใหม่ วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่ที่งดงาม และได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2




ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม


ประเพณี

1. พระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการสมโภชพระราชวังที่เพิ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 1

2. พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสาบานตนของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดฯ ให้เคารพพระรัตนตรัยก่อนพระเชษฐบิดร

3. พระราชพิธีโสกันต์ คือ ประเพณีตัดผมจุกของพระราชโอรส พระราชธิดา หรือ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

4. พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะไปปกครอง

5. พระราชพิธีจรดพระนังคัลและพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวไทย

6. พระราชพิธีวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีนี้ขึ้นมาเป็นพิธีหลวงอีกพิธีหนึ่ง

7. พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จะต่อสู้กับโรคอหิวาตกโรค


วรรณกรรม

ราชสำนักจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและเป็นที่ชุมนุมของกวี

สมัยรัชกาลที่ 1 วรรณคดีที่สำคัญ ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราช และสามก๊ก

สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นกวี พระราชนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือ อิเหนา กวีเอกคนสำคัญในสมัยนี้ คือ สุนทรภู่ ผลงานที่เด่นชัดที่สุด คือ เรื่องพระอภัยมณี

สถาปัตยกรรม

แบบอย่างของสถาปัตยกรรม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2 ได้เจริญรอยตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเกือบทั้งหมด ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 นิยมศิลปะการก่อสร้างแบบจีน โดยเฉพาะรูปแบบการสร้างวัด

จิตรกรรม

งานจิตรกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรมฝาผนัง และเลียนแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีลักษณะศิลปะแบบจีนเข้ามาปะปนอยู่ด้วย จิตรกรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ภาพฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น

การศึกษา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัง และ วัด การเรียนหนังสือภาไทย เดิมยังไม่มีแบบเรียน เพิ่งมีเมื่อหมอบรัดเลย์ พิมพ์หนังสือประถม ก.กา ออกจำหน่าย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีโรงเรียนเป็นหลักแหล่ง ต้องไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ การเรียนที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง คือ การศึกษาวิชาชีพตามบรรพบุรุษ หรือตามอาชีพที่มีในท้องถิ่นของตน เช่น ช่างทอง ช่างถม เป็นต้น












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น