วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553






โครงงานวิธีการทางประวัติศาสตร์




โครงงานวิธีการทางประวัติศาสตร์

เรื่อง มีอะไรในสวนประวัติศาสตร์

จัดทำโดย

น.ส.ชุติกาญจน์ อุทัยกิจ เลขที่9

น.ส.ธัญสินี สุดทองคง เลขที่11

น.ส.ปิยะวรรณ จันทร์เจริญ เลขที่ 12

น.ส.มณฑิตา เหมทานนท์ เลขที่ 13

น.ส.วีรยา ปาลิโภชน์ เลขที่ 14

น.ส.อภิชญา จิระแพทย์ เลขที่ 16

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8





บทที่1 บทนำ

ที่มาและความสำคัญ : เนื่องจากสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลาเป็นสถานที่ที่จัดสร้างขึ้นใหม่ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้และสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้ยังตั้งอยู่ในท้องถิ่นบ้านเกิดของคณะผู้จัดทำ อีกทั้งทางคณะผู้จัดทำยังได้ยินคำล่ำลือว่ามีสิ่งที่น่าสนใจหลายๆอย่างอยู่ในสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้ ดังนั้นทางคณะผู้จัดทำจึงทำโครงงานนี้ขึ้นเพื่อที่จะศึกษาว่า จะมีอะไรอยู่ในสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้บ้าง





วัตถุประสงค์ : เพื่อต้องการที่จะศึกษาว่าในสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจและสามารถนำมาเป็นความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ได้





ขอบเขตของการศึกษา

สถานที่ : สวนประวัติศาสตรื พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ระยะเวลาการดำเนินการ : 1 – 31 กรกฎาคม 2553





บทที่2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง

สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลา ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 140 ไร่ บริเวณเชิงสะพานติณสูลานนท์ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นสถานที่ที่ชาวสงขลาและผู้มีจิตศรัทธาในคุณงามความดี ความเสียสละของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ร่วมมือกันจัดสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติแด่ ฯพณฯ เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา

จุดเริ่มต้นของสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2527 ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ได้สร้างสะพานติณสูลานนท์เชื่อมเกาะยอกับผืนแผ่นดินใหญ่ฝั่งอำเภอเมืองสงขลาและอำเภอ สิงหนคร

ในปีพ.ศ.2536 สภาตำบลเกาะยอ และพระกิตติมงคลพัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ ร่วมกับประชาชนชาวสงขลา โดยความเห็นชอบของสภาตำบล และสภาท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัด พร้อมใจกันเสนอแนวคิดสร้างรูปเหมือนของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษขึ้น เป็นแบบหรือสัญลักษณ์ของปูชนียบุคคลแห่งความซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในการกระทำคุณความดี โดยกำหนดที่ตั้งรูปเหมือนไว้ที่สวนป๋าเปรม หมู่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา พร้อมกับการสร้างอาคารเอนกประสงค์ และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์รองรับ โดยเห็นพ้องต้องกันให้ตั้งชื่อโครงการว่า "สวนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์" และพัฒนาการจนมาเป็นสวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สงขลา ในวันนี้ภายในสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้ ประกอบไปด้วยสถานที่ต่างๆดังนี้



1.หอประวัติ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชมชีวประวัติ ตั้งแต่เยาว์วัยจนกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐบุรุษและปรานองคมนตรี ซึ่งจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการนำเสนอผ่านเทคโนโลยี ที่ทันสมัย และยังถ่ายทอดปรัชญาความคิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของชาวไทยได้เป็นอย่างดี



2.บ้านพธำมะรงค์(จำลอง) เป็นบ้านจำลองเหมือนจริง ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สมัยเยาว์วัยและครอบครัว ถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีชีวิตในอดีต โดยมีเครื่องเรือนโบราณและสิ่งของเครื่องใช้จัดแสดงให้ชมเหมือนบรรยากาศในยุคนั้น



3.เตาเผากระเบื้องโบราณ สื่อให้เห็นถึงการประกอบอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านแถบเกาะยอและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมภายในท้องถิ่น และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในอดีต



4.ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน มีสะพานเดินศึกษาธรรมชาติ ความยาว 800 เมตร เป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและสัตว์น้ำ



5.สวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายยามเย็น ทำกิจกรรมต่างๆกับครอบครัว มีสวนตาลโตนด สวนปาล์ม พันธุ์ไม้นานาชนิด และแหล่งน้ำกลางสวน ถือได้ว่าเป็นปอดของชาวสงขลาอย่างแท้จริง




นอกจากนี้ ภายในสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้ยังมีประติมากรรมที่ชื่อว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” และประติมากรรม “หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความซื่อสัตย์และจงรักภักดีสู่แผ่นดิน” และยังมีอาคารพักแรม อาคารกิจกรรมทางน้ำ ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมมากมาย





บทที่3 วิธีดำเนินงาน

ขั้นตอนการดำเนินงาน : 1.กำหนดหัวข้อเรื่อง

2.ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล

3.นำข้อมูลหรือหลักฐานที่ได้มาพิจาณาและตรวจสอบ

4.ทำความเข้าใจในข้อมูลหรือหลักฐานนั้นๆ

5.นำข้อมูล หลักฐาน และเนื้อหาทั้งหมดมาเรียบเรียงจัดทำเป็นรูปเล่มแล้วนำเสนอ





บทที่4 ผลการศึกษา

จากการที่ทางคณะผู้จัดทำได้ไปศึกษาหาข้อมูลและหลักฐานที่สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลา ก็ได้ข้อมูลมาว่าภายในสวนประวัติศาสตร์นั้นมีสถานที่ที่แสดงให้เห็นและให้ทราบถึงประวัติศาสตร์หลายๆอย่าง ดังนี้



1.หอประวัติ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะแสดงให้ทราบถึงชีวประวัติของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และถ่ายทอดปรัชญาความคิดของท่านซึ่งเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของชาวไทย



2.บ้านพธำมะรงค์จำลอง ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์สมัยเยาว์วัย ซึ่งจะถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีชีวิตในอดีต โดยมีเครื่องเรือนและสิ่งของเครื่องใช้โบราณจัดแสดง



3.เตาเผากระเบื้องโบราณ สื่อให้เห็นถึงการประกอบอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านแถบเกาะยอและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมภายในท้องถิ่นและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในอดีต



4.ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน จะมีสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและสัตว์น้ำ ซึ่งในสมัยก่อนป่าชายเลนนี้จะมีเป็นจำนวนมากแต่ในสมัยนี้ป่าชายเลนมีจำนวนลดน้อยลงมาก ทางสวนประวัติศาสตร์จึงสร้างศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาเกี่ยวกับป่าชายเลน





บทที่5 สรุปผลการศึกษา

จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าภายในสวนประวัติศาสตร์นั้นมีสถานที่ที่น่าสนใจอยู่มากมายและแต่ละสถานที่นั้นก็ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากมาย





ประโยชน์ที่ได้รับ : ได้ทราบว่าภายในสวนประวัติศาสตร์นั้นมีสถานที่มากมายที่ให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์สมัยโบราณและสถานที่ที่กล่าวมานี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์เท่านั้นแต่ยังให้ความรู้ในด้านอื่นๆอีกหลายๆด้าน เช่น ด้านธรรมชาติป่าชายเลน





ภาคผนวก

























วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาการชาติไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

 
 
มูลเหตุการปรับปรุงการปกครอง


นายวรเดช จันทรศร ได้สรุปถึงปัญหาที่สยามประเทศเผชิญอยู่ในขณะนั้นที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวม 7 ประการ ได้แก่

1. ปัญหาความล้าหลังของระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีรูปแบบของการจัดที่ทำให้เอกภาพของชาติตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคงระบบบริหารล้าสมัยขาดประสิทธิภาพมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและสับสนการควบคุมและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่สามารถทำได้ทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ในอันตรายและยังเปิดโอกาสให้ค่านิยมของตะวันตกสามารถเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย

2. ระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการคลังของสยามประเทศ มิได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองและเสริมสร้างพระราชอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากขาดหน่วยงานกลางที่จะควบคุมดูแลการจัดเก็บรักษาและใช้เงินรายได้แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเจ้าพนักงานขุนนางผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีรัฐ และเจ้าภาษีนายอากร ให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ได้

3. การควบคุมกำลังคนในระบบไพร่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ไพร่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่มั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ เกิดการขาดเอกภาพในชาติทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล้าหลังไพร่ไม่สามารถสะสมทางเศรษฐกิจทั้งนี้ เพราะผลเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงของมูลนาย ยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และเกิดความเสียหายต่อสยามโดยรวม

4. ปัญหาการมีทาสก่อให้เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นเครื่องชี้ความป่าเถื่อนล้าหลังของบ้านเมืองที่มีอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของลัทธิล่าอาณานิคมที่จะสร้างความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชาติด้อยพัฒนาในแง่เศรษฐกิจระบบทาสของสยามเป็นระบบใช้แรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการเป็นการพัฒนาคุณภาพกำลังคนในชาติ

5. ระบบทหารของสยามประเทศเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ และเกียรติของชาติไว้ได้เป็นระบบที่ยึดถือแรงงานของไพร่เป็นหลักในการป้องกันพระราชอาณาจักรทำให้การควบคุมประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของชาติตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง ทำให้กองทัพขาดเอกภาพขาดระเบียบวินัยอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรบไม่อำนวยให้เกิดการฝึกหัดที่ดีและการเรียกระดมเข้าประจำกองทัพล่าช้าทำให้ไม่ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอน

6. ปัญหาข้อบกพร่องของระบบกฎหมาย และการศาลที่ล้าสมัยแตกต่างจากอารยะประเทศไม่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับคนในชาติ และชาวต่างชาติบทลงโทษรุนแรงทารุณการพิจารณา ล่าช้าคดีคั่งค้างไม่สามารถรองรับความเจริญทางการค้าพาณิชย์และสภาพสังคม ได้มีหน่วยงานในการพิจารณาคดีมากเกินไป เกิดความล่าช้าสังกัดของศาลแยกไปอยู่หลายกรมเกิดความล่าช้าและไม่ยุติธรรมระบบการรับสินบนฝังรากลึกมาแต่ในอดีตปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สยามถูกกดดันทำให้เกิดความยากลำบากในการปกครองและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

7. ปัญหาด้านการศึกษาสยามประเทศก่อนปฏิรูปยังไม่มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยตรงการศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะราชวงศ์ขุนนางชั้นสูงเกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ลางเลือน ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศขาดพลังที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งยังทำให้ต่างชาติดูถูกสยามประเทศว่ามีความป่าเถื่อน ล้าหลัง


การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลาง

การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางได้จัดแบ่งหน่วยงานออกเป็นกระทรวงต่าง ๆ ตามลักษณะเฉพาะ เพื่อให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางซึ่งมีมาแต่เดิมนับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มหาดไทย กลาโหม เมือง วัง คลัง นาอันได้ใช้เป็นระเบียบปกครองประเทศไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เหตุแห่งการปฏิรูปการปกครอง และระเบียบราชการส่วนกลางในรัชการนี้ ก็เนื่องจากองค์การแห่งการบริการส่วนกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติราชการให้ได้ผลดีและความเจริญของประเทศและจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นข้าราชการเพิ่มขึ้น แต่องค์การแห่งราชการบริหารส่วนกลางยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นโดยได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ขึ้นโดยได้จัดสรรให้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ดังนี้ คือ

1. กระทรวงมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราช (ในช่วงแรก) แต่ต่อมาได้มีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมดที่มีให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย

2. กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช เมื่อมีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้วกระทรวงกลาโหมจึงบังคับบัญชาฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียวทั่วพระราชอาณาเขต

3. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) มีหน้าที่ด้านการต่างประเทศ

4. กระทรวงวัง ว่าการในพระราชวัง

5. กระทรวงเมือง (นครบาล) การโปลิศและการบัญชีคน คือ กรมพระสุรัสวดีและรักษาคนโทษ

6. กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้า ป่าไม้ เหมืองแร่

7. กระทรวงพระคลัง ดูแลเรื่องเงิน รายได้ รายจ่ายของแผ่นดิน

8. กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องศาลซึ่งเคยกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ นำมาไว้ที่แห่งเดียวกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน

9. กระทรวงยุทธนาธิการ ตรวจตราจัดการในกรมทหารบก ทหารเรือ

10. กระทรวงธรรมการ จัดการเกี่ยวกับการศึกษา การรักษาพยาบาล และอุปถัมภ์คณะสงฆ์

11. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง การช่าง การไปรษณีย์โทรเลขการรถไฟ

12. กระทรวงมุรธาธิการ มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง

เมื่อได้ประกาศปรับปรุงกระทรวงใหม่เสร็จเรียบร้อยจึงได้ประกาศตั้งเสนาบดีและให้เลิกอัครเสนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม กับตำแหน่งจตุสดมภ์ให้เสนาบดีทุกตำแหน่งเสมอกันและรวมกันเป็นที่ประชุมเสนาบดีสภา หรือเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา ต่อจากนั้นได้ยุบรวมกระทรวง และปรับปรุงใหม่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงต่างๆ ยังคงมีเหลืออยู่ 10 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงการ-ต่างประเทศ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงวัง กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงธรรมการ

                                                    

การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

ด้วยเหตุที่มีการรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองซึ่งเคยแยกกันอยู่ใน 3 กรม คือ มหาดไทยกลาโหมและกรมท่า ให้มารวมกันอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว การปฏิรูปหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคจึงมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทน (field) หรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลกลางโดยส่วนรวมทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองแบบเมืองหลวง เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชเดิม เพื่อให้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนแปลงแบบราชอาณาจักรโดยการจัดระเบียบการปกครองให้มีลักษณะลดหลั่นตามระดับสายการบังคับบัญชาหน่วยเหนือลงไปจนถึงหน่วยงานชั้นรอง ตามลำดับดังนี้

1.การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล โดยการรวมหัวเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑลตามสภาพภูมิประเทศและความสะดวกแก่การปกครอง มีสมุหเทศาภิบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลือกสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามรถสูงและเป็นที่วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งให้ไปบริหารราชการต่างพระเนตรพระกรรณ

2.การจัดรูปการปกครองเมือง มีการปกครองใช้ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดหน่วยบริหารที่ชื่อว่า "เมือง" ใหม่โดยให้รวมท้องที่หลายอำเภอเป็นหัวเมืองหนึ่งและกำหนดให้มีพนักงานปกครองเมืองแต่ละเมือง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาเมือง และมีคณะกรรมการเมือง 2 คณะ คือ กรมการในทำเนียบและกรมการนอกทำเนียบเป็นผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงเลือกสรร และโยกย้ายผู้ว่าราชการเมือง

3. การจัดการปกครองอำเภอ อำเภอเป็นหน่วยบริหารราชการระดับถัดจากเมืองเป็นหน่วยปฏิบัติราชการหน่วยสุดท้ายของรัฐที่จะเป็นผู้บริการราชการในท้องที่ และให้บริการแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง เป็นหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมท้องที่หลายตำบลเข้าด้วยกัน มีกรมการอำเภอซึ่งประกอบด้วยนายอำเภอปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอร่วมกันรับผิดชอบในราชการของอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นหัวหน้า ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายนายอำเภอ เป็นอำนาจของข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับตำแหน่งลำดับรองๆ ลงไปซึ่งได้แก่ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ และเสมียน พนักงาน ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหากท้องที่อำเภอใดกว้างขวางยากแก่การที่กรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ทั่วถึงได้และท้องที่นั้นยังมีผู้คนไม่มากพอที่จะยกฐานะเป็นอำเภอหรือกรณีที่ท้องที่ของอำเภอมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอก็ให้แบ่งท้องที่ออกเป็น กิ่งอำเภอเพื่อให้มีพนักงานปกครองดูแลได้แต่กิ่งอำเภอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอและอยู่ในกำกับดูแลของกรรมการอำเภอ

4. การจัดรูปการปกครองตำบลหมู่บ้าน อำเภอแต่ละอำเภอมีการแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นหลายตำบลและตำบลก็ยังซอยพื้นที่ออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองสุดท้ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดการปกครองระดับนี้มุ่งหมายที่จะให้ราษฎรในพื้นที่ เลือกสรรบุคคลขึ้นทำหน้าที่เป็นธุระในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเป็นทั้งตัวแทนประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน คือเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลืออำเภอ และเป็นตัวแทนของรัฐสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎร์ ตลอดจนช่วยเก็บภาษีอากรบางอย่างให้รัฐ


การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นจากต่างประเทศมา

ดำเนินการโดยริเริ่มทดลองให้มีการจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯและการสุขาภิบาลหัวเมือง รายละเอียดดังนี้

1. การจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้จัดการบำรุงท้องถิ่นแบบสุขาภิบาล ขึ้นในกรุงเทพ อันเป็นอิทธิพลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสไปดู กิจการต่าง ๆในยุโรป และเนื่องจากเจ้าพระยาอภัยราชา(โรลังยัคมินส์) ติเตียนว่ากรุงเทพฯสกปรกที่รักษาราชการทั่วไปของประเทศในขณะนั้นได้กราบทูลกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวต่างประเทศ มักติเตียนว่ากรุงเทพฯ สกปรกไม่มีถนนหนทางสมควรแก่ฐานะเป็นเมืองหลวงพระองค์ จึงโปรดเกล้าให้จัดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นโดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 ออกใช้บังคับการจัดการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล การบริหารกิจการในท้องที่ของสุขาภิบาลพระราชกำหนดได้กำหนดให้มีการประชุมปรึกษากันเป็นคราว ๆ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้รับหน้าที่ในด้านการอนามัยและการศึกษาขั้นต้นของราษฎร ได้ แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ชนิด คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล โดยสุขาภิบาลแต่ละชนิดมีหน้าที่

             1.รักษาความสะอาดในท้องที่

             2.การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่

             3. การบำรุงและรักษาทางไปมาในท้องที่

             4. การศึกษาขึ้นต้นของราษฎร

พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับได้ใช้อยู่จนกระทั่งหมดสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศและสุขาภิบาลเริ่มประสบปัญหาต่างๆ จึงทำให้การทำงานของสุขาภิบาลหยุดชะงักและเฉื่อยลงตามลำดับ จวบจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 คณะราษฎรมุ่งหวังที่จะสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จึงตราพระราชบัญญัติการจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เพื่อส่งเสริมให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลอย่างกว้างขวาง




พัฒนาการชาติไทยสมัยรัชกาลที่ 4-5-6-7 ด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

เศรษฐกิจสมัยธนบุรี-สัญญาเบาริ่ง (ร.4 2398)






- การเกษตรกรรม : ผลิตเพื่อยังชีพเหมือนเดิม

- การค้า
1. ตลาดต่างประเทศ : ค้าขายกับจีนมากที่สุด (50-85%) รองลงมาคือ ปีนังและสิงคโปร์
2. ระบบการค้ากับจีน : รัฐใช้ระบบการค้าผสมการฑูต (tributary trade) = ส่งเรือสินค้าไปกับเรือฑูต
3. ผู้ประกอบการค้า

1) นายทุนไทย : มี King เป็นนายทุนใหญ่ที่สุด เจ้าขุนนางรองลงมา คน
ไทยที่เป็นไพร่ค้าขายน้อยมากเพราะพันธนาการของระบบไพร่
2) นายทุนต่างชาติ : คนจีนเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดค้ากับไทย/ในไทยมาตั้งแต่
สมัยสุโขทัย และยังได้สิทธิเหนือคนชาติอื่นและเหนือไพร่ด้วย

ระบบเจ้าภาษีนายอากร

ซึ่งเป็นเอกชนเข้ามาช่วยเก็บภาษีส่งให้รัฐบาล ใคร
ประมูลให้ราคาสูงสุด(Tax)แก่รัฐ รัฐก็จะให้เป็นเจ้าภาษีซึ่งมีอยู่ถึง 42 ชนิดสมัย ร.3 อากรมี17 ชนิด
ส่วนใหญ่เอกชน(นายอากร)เป็นผู้เก็บแทนรัฐบาล

- เหตุที่ใช้ระบบเจ้าภาษีนายอากร

1. ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีดีกว่าให้เจ้าหน้าที่เก็บ
2. รัฐไม่ต้องสิ้นเปลือง งบประมาณในการจัดเก็บ
3. คนจีนคิดภาษีใหม่เสนอรัฐบาล


ระบบเศรษฐกิจไทยสมัย ร.6-7 (2453-75)



- เกิดความล้มเหลวในการสร้างพลังการผลิต


1.1 ความล้มเหลวที่จะสร้างผลผลิตให้สูงขึ้นทางการเกษตร สาเหตุ

1) รัฐบาลขาดความเอาใจใส่ด้านชลประทาน การทำนาส่วนใหญ่จึงอาศัยน้ำฝนซึ่งไม่ค่อยแน่นอน
2) ชาวนาภาคกลาง 36% ไม่มีที่นาเป็นองตนเอง จึงขาดกำลังที่จะปรับปรุงการผลิตให้ดีขึ้น
3) ค่าเช่านาแพงมาก ราว 1/2 1/3 ของผลผลิต
4) ขาดการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใส่ปุ๋ย ข้าวพันธุ์ดี เครื่องสูบน้ำ

1.2 การขาดการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม(ของญี่ปุ่น) เขาเริ่มพัฒนาประเทศเสมัยเมจิ  2411-2455 ตรงกับสมัย ร.5 เพียง 40 ปี ญี่ปุ่นก็ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม

เป็นมหาอำนาจ รบชนะจีนในปี 2437-8 รบชนะรัสเซียในปี 2447-8








การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน



ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต่อมาเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย


คณะราษฎรเกิดจากการรวมกลุ่มของข้าราชการและนักเรียนไทย 7 คนในฝรั่งเศสและยุโรปที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เมื่อนักเรียนเหล่านี้กลับมาเมืองไทยก็ได้ขยายกลุ่มสมาชิกภายในประเทศและขอให้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือน หลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำฝ่ายทหารบก


1. สาเหตุของการปฏิวัติ เกิดจากปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ในด้านปัจจัยทางการเมือง การปฏิรูปบ้านเมืองและปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดชนชั้นกลางที่เรียนรู้รูปแบบการเมืองการปกครองของชาติตะวันตก ทำให้เห็นว่าการปกครองโดยคน ๆ เดียวหรือสถาบันเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากไม่พอใจที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผูกขาดอำนาจการปกครองและการบริหารราชการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการให้มีการปกครองระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ บางกลุ่มต้องการให้มีการปกครองระบอบสาธารณรัฐ

ในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการดุลข้าราชการออกจำนวนมากเพื่อตัดลดงบประมาณ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรใช้โจมตีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


2. เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในวันที่ 24 มิถุนายน คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน

ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคุณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต








 
บทบาทพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อการพัฒนาชาติไทย






ด้านสังคม


(1) การควบคุมกำลังคน

เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ๆ สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก เพราะต้องใช้กำลังคนทั้งการก่อสร้างพระนครใหม่ การป้องกันบ้านเมือง และต้องการไว้รบเพื่อเตรียมทำสงคราม ฉะนั้นระบบไพร่จึงมีบทบาทสำคัญมาก

ระบบไพร่ หรือ การควบคุมกำลังคนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงอาศัยระบบไพร่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรากฐาน จากสภาพทางเศรษฐกิจที่การค้ากับต่างประเทศกำลังเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน ตลอดจนการเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตก มีผลทำให้ระบบไพร่ในสมัยนี้ลดการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดลง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานประจำ เข้าเดือน ออกเดือน รวมแล้วปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์แรงงาน 6 เดือน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 การเข้าเวรทำงานของไพร่หลวงได้รับการผ่อนปรนให้ทำงานน้อยลง โดยทำงานให้รัฐเพียงปีละ 4 เดือน สมัยรัชกาลที่ 2 ได้ลดลงอีกเหลือเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น และในจำนวนเวลา 3 เดือนที่ต้องเข้าเวรนี้ ถ้าผู้ใดจะส่งเงินมาเสียเป็นค่าราชการแทนการเข้าเวรก็ได้ เดือนละ 6 บาท ปีละ 18 บาท สำหรับไพร่สมนั้น ให้เข้ามารรับราชการด้วยเช่นกันปีละ 1 เดือน หรือจ่ายเป็นเงิน ปีละ 6 บาท

นอกจากนั้น ยังยอมให้ไพร่ที่กระทำผิดแล้วมามอบตัวจะไม่ถูกลงโทษ ให้ไพร่สามารถเลือกขึ้นสังกัดมูลนายได้ตามสมัครใจ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามแก่ไพร่หลวงทุกคน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาไพร่หลวงจะได้รับการยกเว้นอากรค่าน้ำ อากรตลาดและอากรสมพัตสร ภายในวงเงิน 4 บาท (1 ตำลึง) และจ่ายเฉพาะเงินภาษีอากรส่วนที่เกินกว่า 4 บาทขึ้นไป การผ่อนปรนกับไพร่นั้น ยังคงต่อเนื่องมาในสมัยหลัง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงยอมให้ไพร่ถวายฎีกาโดยตรงได้ ในกรณีที่ถูกข่มเหงจากมูลนาย โดยไม่จำเป็นต้องร้องเรียนผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

(2) โครงสร้างชนชั้นของสังคม

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โครงสร้างชนชั้นของสังคมยังคงคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มี 2 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นปกครอง และขุนนาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการของพระองค์เป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะดุจสมมติเทพ

พระบรมวงศานุวงศ์

พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

- สกุลยศ หมายถึง ตำแหน่งที่สืบเชื้อสายมาโดยกำเนิด ซึ่งสกุลยศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มี 3 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า

- อิสสริยยศ หมายถึง ตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานหรือเลื่อนยศให้ ซึ่งอิสสริยยศที่มีตำแหน่งสูงที่สุด คือ พระมหาอุปราช

ขุนนาง

ขุนนาง เป็นกลุ่มบุคคลที่ช่วยเหลือกิจการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขุนนางได้รับการยกเว้นการเกณฑ์แรงงาน และขุนนางในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองสูง

ไพร่

ไพร่ หมายถึง ราษฎรทั่วไปทั้งชายและหญิง ที่มิได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง และมิได้เป็นทาส นับเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดของสังคม ไพร่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่สำคัญ คือ ไพร่สม ไพร่หลวง และไพร่ส่วย เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา

ไพร่หลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับการผ่อนผันลดหย่อนเวลาเกณฑ์แรงงาน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้ไพร่เหล่านี้ได้ผลิตสินค้าเพื่อขายสู่ตลาดมากขึ้น ในสมัยนี้เนื่อง่จากการค้าเจริญรุ่งเรือง ไพร่ส่วยมีความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลเร่งเอาส่วยสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปค้าขาย นับเป็นภาระหนักอย่างหนึ่งของไพร่ จึงมีคนจำนวนมากหนีระบบไพร่ โดยการไปเป็นไพร่สมของเจ้านายหรือขุนนางผู้มีอำนาจหรือขายตัวเป็นทาส จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกาศห้ามขุนนางหรือเจ้านายซ่องสุมกำลังคน

ทาส

ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม ทำงานให้แก่นายเงินของตนเท่านั้น ไม่ต้องเข้าเวรรับราชการเช่นไพร่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้ระบุประเภทของทาสไว้ 7 ประเภท คือ

1. ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่ไถ่หรือซื้อมาด้วยทรัพย์

2. ทาสในเรือนเบี้ย คือ เด็กที่เกิดมาในขณะที่พ่อแม่เป็นทาส

3. ทาสที่ได้มาจากฝ่ายบิดามารดา คือ ทาสที่ได้รับเป็นมรดกสืบทอด

4. ทาสท่านให้ คือ ทาสที่มีผู้ยกให้

5. ทาสที่ได้เนื่องมาจากนายเงินไปช่วยให้ผู้นั้นพ้นโทษปรับ

6. ทาสที่มูลนายเลี้ยงไว้ในยามข้าวยากหมากแพง

7. ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้มาจากสงคราม

พระสงฆ์

พระสงฆ์ เป็นกลุ่มสังคมที่มาจากทุกชนชั้นในสังคม มีหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชน เป็นครูผู้สอนหนังสือและวิทยาการต่าง ๆ แก่เด็กผู้ชาย



ด้านศาสนา

(1) การสังคายนาพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการชำระสะสางพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ และจารึกลงในใบลาน คัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ปิดทองทั้งปกหน้าและด้านข้าง เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ หรือ ฉบับทองทึบ อัญเชิญประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก หอพระมนเทียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

(2) การกวดขันพระธรรมวินัย

รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายสำหรับสงฆ์ขึ้นหลายฉบับ ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของพระสงฆ์ เมื่อพบว่าพระสงฆ์รูปใดไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ก็ให้จับสึกเสีย

(3) การสถาปนาธรรมยุติกนิกาย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ ได้เสด็จออกผนวช ทรงพบว่าคำสอน และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาพุทธวิบัติไปเป็นอันมาก พระภิกษุก็มิได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน จึงมีพระประสงค์จะสังคายนาคณะสงฆ์เสียใหม่ ทรงตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2372 แต่มิได้เลิกคณะสงฆ์เดิม และเรียกคณะสงฆ์เดิมว่า ฝ่ายมหานิกาย

(4) การส่งสมณทูตไปลังกา

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ส่งสมณทูตไปลังกา ทั้งหมด 9 รูป โดยมีพระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพ เป็นหัวหน้า และได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา 6 ต้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2385 และ พ.ศ. 2387

(5) การสร้างและบูรณะวัดวาอาราม

- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต วัดนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดพระแก้ว"

- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ใช้เวลา 12 ปี ถือกันว่า เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลา 16 ปี โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และช่างทุกสาขาให้ช่วยกันชำระตำรา และจารึกไว้บนแผ่นศิลาตามเสา และผนังรายรอบบริเวณวัด เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า วัดนี้จึงจัดว่าเป็นวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย

- วัดสุทัศนเทพวราราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี หรือ พระโต

- วัดอรุณราชวราราม เดิมเรียกวัดแจ้ง รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้สร้างพระอุโบสถใหม่ วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่ที่งดงาม และได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2




ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม


ประเพณี

1. พระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการสมโภชพระราชวังที่เพิ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 1

2. พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสาบานตนของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดฯ ให้เคารพพระรัตนตรัยก่อนพระเชษฐบิดร

3. พระราชพิธีโสกันต์ คือ ประเพณีตัดผมจุกของพระราชโอรส พระราชธิดา หรือ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

4. พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะไปปกครอง

5. พระราชพิธีจรดพระนังคัลและพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวไทย

6. พระราชพิธีวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีนี้ขึ้นมาเป็นพิธีหลวงอีกพิธีหนึ่ง

7. พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จะต่อสู้กับโรคอหิวาตกโรค


วรรณกรรม

ราชสำนักจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและเป็นที่ชุมนุมของกวี

สมัยรัชกาลที่ 1 วรรณคดีที่สำคัญ ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราช และสามก๊ก

สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นกวี พระราชนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือ อิเหนา กวีเอกคนสำคัญในสมัยนี้ คือ สุนทรภู่ ผลงานที่เด่นชัดที่สุด คือ เรื่องพระอภัยมณี

สถาปัตยกรรม

แบบอย่างของสถาปัตยกรรม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2 ได้เจริญรอยตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเกือบทั้งหมด ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 นิยมศิลปะการก่อสร้างแบบจีน โดยเฉพาะรูปแบบการสร้างวัด

จิตรกรรม

งานจิตรกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรมฝาผนัง และเลียนแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีลักษณะศิลปะแบบจีนเข้ามาปะปนอยู่ด้วย จิตรกรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ภาพฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น

การศึกษา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัง และ วัด การเรียนหนังสือภาไทย เดิมยังไม่มีแบบเรียน เพิ่งมีเมื่อหมอบรัดเลย์ พิมพ์หนังสือประถม ก.กา ออกจำหน่าย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีโรงเรียนเป็นหลักแหล่ง ต้องไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ การเรียนที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง คือ การศึกษาวิชาชีพตามบรรพบุรุษ หรือตามอาชีพที่มีในท้องถิ่นของตน เช่น ช่างทอง ช่างถม เป็นต้น












วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของวิธีการทางประวัติศาสตร์


ในการสืบค้น ค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีอยู่หลายวิธี เช่น จากหลักฐานทางวัตถุที่ขุดค้นพบ หลักฐานที่เป็นการบันทึกลายลักษณ์อักษร หลักฐานจากคำบอกเล่า ซึ่งการรวบรวมเรื่องราวต่างๆทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ เรียกว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์
วิธีการทางประวัติศาสตร์ คือ การรวบรวม พิจารณาไตร่ตรอง วิเคราะห์และตีความจากหลักฐานแล้วนำมาเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ เพื่ออธิบายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอดีตว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ในอดีตนั้นได้เกิดและคลี่คลายอย่างไร ซึ่งเป็นความมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์
ความ สำคัญของวิธีการทางประวัติศาสตร์

สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น มีปัญหาที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ อดีตที่มีการฟื้นหรือจำลองขึ้นมาใหม่นั้น มีความถูกต้องสมบูรณ์และเชื่อถือได้เพียงใดรวมทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์ อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่นำมาใช้เป็นข้อมูลนั้น มีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด เพราะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มีอยู่มากมายเกินกว่าที่จะศึกษาหรือจดจำได้ หมด แต่หลักฐานที่ใช้เป็นข้อมูลอาจมีเพียงบางส่วน
ดังนั้น วิธีการทางประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ศึกษา ประวัติศาสตร์ หรือผู้ฝึกฝนทางประวัติศาสตร์จะได้นำไปใช้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ลำเอียง และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ขั้น ตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์ ::
 

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย
     เป็นขั้นตอนแรก นักประวัติศาสตร์ต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร อดีตส่วนไหน สมัยอะไร และเพราะเหตุใด เป็นการตั้งคำถามที่ต้องการศึกษา นักประวัติศาสตร์ต้องอาศัยการอ่าน การสังเกต และควรต้องมีความรู้กว้างๆ ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนั้นๆมาก่อนบ้าง ซึ่งคำถามหลักที่นักประวัติศาสตร์ควรคำนึงอยู่ตลอดเวลาก็คือทำไมและเกิดขึ้น อย่างไร


ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล
      หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ให้ข้อมูล มีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งที่เป็นหลักฐานชั้นต้น(ปฐมภูมิ) และหลักฐานชั้นรอง(ทุติยภูมิ)
การรวบรวมข้อมูลนั้น หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญ และความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานชั้นรอง แต่หลักฐานชั้นรองอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายกว่าหลักฐานชั้นรอง
ในการรวบรวมข้อมูลประเภทต่างๆดังกล่าวข้างต้น ควรเริ่มต้นจากหลักฐานชั้นรองแล้วจึงศึกษาหลักฐานชั้นต้น ถ้าเป็นหลักฐานประเภทไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรเริ่มต้นจากผลการศึกษาของ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ก่อนไปศึกษาจากของจริงหรือสถานที่จริง
การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้ข้อมูลหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษาต้องการศึกษาเรื่องอะไร ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลที่ดีจะต้องจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทั้งข้อมูลและแหล่งข้อมูลให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ




ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐาน
      วิพากษ์วิธีทางประวัติ ศาสตร์ คือ การตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลในหลักฐานเหล่านั้นว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานและวิพากษ์ข้อมูลโดยขั้นตอนทั้งสองจะกระทำควบ คู่กันไป เนื่องจากการตรวจสอบหลักฐานต้องพิจารณาจากเนื้อหา หรือข้อมูลภายในหลักฐานนั้น และในการวิพากษ์ข้อมูลก็ต้องอาศัยรูปลักษณะของหลักฐานภายนอกประกอบด้วยการ วิพากษ์หลักฐานหรือวิพากษ์ภายนอก
การวิพากษ์หลักฐาน (external criticism) คือ การพิจารณาตรวจสอบหลักฐานที่ได้คัดเลือกไว้แต่ละชิ้นว่ามีความน่าเชื่อถือ เพียงใด แต่เป็นเพียงการประเมินตัวหลักฐาน มิได้มุ่งที่ข้อมูลในหลักฐาน ดังนั้นขั้นตอนนี้เป็นการสกัดหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือออกไปการวิพากษ์ ข้อมูลหรือวิพากษ์ภายใน
การวิพากษ์ข้อมูล (internal criticism) คือ การพิจารณาเนื้อหาหรือความหมายที่แสดงออกในหลักฐาน เพื่อประเมินว่าน่าเชื่อถือเพียงใด โดยเน้นถึงความถูกต้อง คุณค่า ตลอดจนความหมายที่แท้จริง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการประเมินหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้อมูลในเอกสารมีทั้งที่คลาดเคลื่อน และมีอคติของผู้บันทึกแฝงอยู่ หากนักประวัติศาสตร์ละเลยการวิพากษ์ข้อมูลผลที่ออกมาอาจจะผิดพลาดจากความ เป็นจริง




ขั้นตอนที่ 4 การตีความหลักฐาน
      การตีความหลักฐาน หมายถึง การพิจารณาข้อมูลในหลักฐานว่าผู้สร้างหลักฐานมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร โดยดูจากลีลาการเขียนของผู้บันทึกและรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปของประดิษฐกรรม ต่างๆเพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริงซึ่ง
อาจแอบแฟงโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
ในการตีความหลักฐาน นักประวัติศาสตร์จึงต้องพยายามจับความหมายจากสำนวนโวหาร ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ของผู้เขียนและสังคมในยุคสมัยนั้นประกอบด้วย เพื่อทีจะได้ทราบว่าถ้อยความนั้นนอกจากจะหมายความตามตัวอักษรแล้ว ยังมีความหมายที่แท้จริงอะไรแฝงอยู่


ขั้นตอนที่ 5 การสังเคราะห์และการวิเคราะห์ข้อมูล  
      จัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติ ศาสตร์     ซึ่งผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องเรียบเรียงเรื่อง หรือนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการตอบหรืออธิบายความอยากรู้ ข้อสงสัยตลอดจนความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านั้น  ในขั้นตอนนี้ ผู้ศึกษาจะต้องนำข้อมูลที่ผ่านการตีความมาวิเคราะห์ หรือแยกแยะเพื่อจัดแยกประเภทของเรื่อง โดยเรื่องเดียวกันควรจัดไว้ด้วยกัน รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงนำเรื่องทั้งหมดมาสังเคราะห์หรือรวมเข้าด้วยกัน คือ เป็นการจำลองภาพบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และความต่อเนื่อง โดยอธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผล ทั้งนี้ผู้ศึกษาอาจนำเสนอเป็นเหตุการณ์พื้นฐาน หรือเป็นเหตุการณ์เชิงวิเคราะห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษา







วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน
วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน ๖) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้
๑. เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัต ถะ
ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ
ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป

๓. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า
ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีป ของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลด เสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย
เมื่อ ถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น
วันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ที่มีต่อปวงมนุษย์และสรรพสัตว์อันหาที่สุดมิได้
การประกอบพิธีในวันวิสาข บูชา จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ

พุทธกิจ ๕ ประการ
๑. ตอนเช้า เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ คือเสด็จไปโปรดจริง เพราะทรงพิจารณาเห็นตอนจวนสว่างแล้ว ว่าวันนี้มีใครบ้างที่ควรไปโปรดทรงสนทนา หรือแสดงธรรมให้ละความเห็นผิดบ้าง เป็นต้น
๒. ตอนบ่าย ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนที่มาเฝ้า ณ ที่ประทับ ซึ่งปรากฏว่าไม่วาพระองค์จะประทับอยู่ที่ใด ประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่าตลอดถึง ผู้ปกครอง นครแคว้นจะชวนกันมาเฝ้าเพื่อสดับตับพระธรรมเทศนาทุกวันมิได้ขาด
๓. ตอนเย็น ทรงเเสดงโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลที่อยู่ประจำ ณ สถานที่นั้นบางวันก็มีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบด้วยเป็นจำนวนมาก
๔. ตอนเที่ยงคืน ทรงแก้ปัญหาหรือตอบปัญหาเทวดา หมายถึง เทพพวกต่างๆ หรือกษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพ ผู้สงสัยในปัญญาและปัญหาธรรม
๕. ตอนเช้ามืด จนสว่าง ทรงพิจารณาสัตว์โลกที่มีอุปนิสัยที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดได้ แล้วเสด็จไปโปรดโดยการไปบิณฑบาตดังกล่าวแล้วในข้อ ๑
โดยนัยดังกล่าวมานี้ พระพุทธองค์ทรงมีเวลาว่าอยู่เพียงเล็กน้อยตอนเช้าหลังเสวยอาหารเช้าแล้ว แต่ก็เป็นเวลาที่ต้องทรงต้อนรับอาคันตุกะ ผู้มาเยือนอยู่เนืองๆ เสวยน้อย บรรทมน้อย แต่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจมาก ตลอดเวลา ๔๕ พรรษานั้นเอง ประชาชนชาวโลกระลึกถึงพระคุณของพระองค์ดังกล่าวมาโดยย่อนี้ จึงถือเอาวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระองค์เป็นวันสำคัญ จัดพิธีวิสาขบูชาขึ้นในทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา

ธรรมเนียมการปฏิบัติในวันวิสาขบูชา
เมื่อ วันวิสาขบูชาเวียนมาถึงในรอบปี พุทธศาสนาชนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต (พระสงฆ์ สามเณร) หรือ ฆราวาส (ผู้ครองเรือน) ทั่วไป จะร่วมกันประกอบพิธีเป็นการพิเศษทำการสักการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณา พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นดวงประทีปโลก เมื่อวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงในวันเดียวกัน ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญวิสาขบูชา กลางเดือน ๖ ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา แบ่งออกเป็น ๓ พิธี คือ
๑.พิธีหลวง (พระราชพิธี)
๒.พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
๓.พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)

การประกอบพิธีและบทสวดมนต์ในวันวิสาขบูชา
๑. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียน ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
๔. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา
๕. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ







การนับศักราชและการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์และสากล


การนับศักราช


ศักราช หมายถึง ปีที่กำหนดเอาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสำคัญมากสำหรับจดจารึกไว้
ศักราชที่มีกำหนดไว้มี คือพุทธศักราช (พ.ศ.) รัตนโกสินทร์ศก หรือ ร.ศ.) จุลศักราช (จ.ศ.) คริสต์ศักราช (ค.ศ.) และมหาศักราช (ม.ศ.) ศักราชเหล่านี้เริ่มต้นนับแตกต่างกัน
การที่จะเทียบศักราชได้จึงต้องนำเอาระยะต่างที่เริ่มนับมาบวกเข้าหรือลบออกดังนี้ ระยะเวลาที่ต่าง


พุทธศักราช มากกว่า คริสต์ศักราช 543 ปี
พุทธศักราช มากกว่า มหาศักราช 621 ปี
พุทธศักราช มากกว่า จุลศักราช 1,181 ปี
พุทธศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 2,324 ปี
คริสต์ศักราช มากกว่า มหาศักราช 78 ปี
คริสต์ศักราช มากกว่า จุลศักราช 638 ปี
คริสต์ศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 1,781 ปี
มหาศักราช มากกว่า จุลศักราช 560 ปี
มหาศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 1,705 ปี
จุลศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 1,143 ปี


พุทธศักราช (พ.ศ.)
      เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ซึ่งเดิมนับเอาวันเพ็ญ เดือน 6 เป็นวันเปลี่ยนศักราช ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนแทน อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมารัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เสียใหม่
โดยเริ่มนับตามสากลคือ วันที่ 1 มกราคม นับแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา
คริสต์ศักราช (ค.ศ.)
     เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีที่พระเยซูเกิดเป็น ค.ศ. 1 ซึ่งเวลานั้น พ.ศ. มีมาแล้วนับได้ 543 ปี
การคำนวณเดือนของ ค.ศ. จะเป็นแบบสุรยคติ ดังนั้นวันขึ้นปีใหม่ของ ค.ศ. จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
มหาศักราช (ม.ศ.)
     เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีกษัตริย์ศักราชวงศ์พระองค์หนึ่งในประเทศอินเดียทรงมีชัยชนะเป็นมหาศักราชที่ 1
วิธีการนับวันเดือนปีจะเป็นไปตามสุริยคติ โดยวันขึ้นปีใหม่จะเริ่มเมื่อ 1 เมษายนของทุกปี


จุลศักราช (จ.ศ.)
     เริ่มนับเมื่อ พ.ศ. ล่วงมาได้ 1,181 ปี โดยนับเอาวันที่พระเถระพม่ารูปหนึ่งนามว่า "บุพโสระหัน " สึกออกจาก การเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัล-ลังก์ การนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ โดยจะมีวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่


รัตนโกสินทร์ ศก (ร.ศ.)
     ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ล่วงมาได้ 2,325 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้บัญญัติขึ้น โดยเริ่มนับเอาวันที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร เป็น ร.ศ. 1 และวันเริ่มต้นปี คือวันที่ 1 เมษายน จนต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เลิกใช้ ร.ศ.)


วิธีการเทียบศักราช เช่น การคิดเทียบหา พ.ศ.


พ.ศ. = ค.ศ. + 543 หรือ ค.ศ. = พ.ศ. - 543
พ.ศ. = ม.ศ. + 621 หรือ ม.ศ. = พ.ศ. - 621
พ.ศ. = จ.ศ. + 1,181 หรือ จ.ศ. = พ.ศ. - 1,181
พ.ศ. = ร.ศ. + 2,324 หรือ ร.ศ. = พ.ศ. - 2,324


การแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์สากล


หลักเกณฑ์ในการแบ่งสมัยทางประวัติศาสตร์ การศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทย สามารถแบ่งช่วงในการศึกษาได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ โดยการแบ่งสมัยก่อนประวัติศาสตร์กับสมัย ประวัติศาสตร์ ยึดถือเอาอายุของตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดเป็นเกณฑ์การแบ่ง สำหรับดินแดนประเทศ ไทยเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์เมื่อพุทธศตวรรษที่ 11 โดยใช้อายุของตัวอักษรบนจารึกซึ่งพบจาก เมืองโบราณที่ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหลัก โดยแต่ละสมัย นักวิชาการจะใช้หลักฐานในการ ศึกษาแตกต่างกัน ดังนี้


     1). สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีตัวอักษรสำหรับบันทึกเรื่องราว การศึกษา
ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในช่วงนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ตีความจาก หลักฐานชั้นต้นที่ได้จากการสำรวจทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน โลหะ เครื่อง ประดับ เครื่องปั้นดินเผา โครงกระดูก เมล็ดพืช ภาพเขียนสีตามฝาผนังถ้ำ
     2). สมัยประวัติศาสตร์ เป็นช่วงที่มีตัวอักษรใช้บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว การศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชนในสมัยประวัติศาสตร์ จะมีการใช้หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์ อักษร เช่น จารึก จดหมายเหตุ บันทึกการเดินทาง ปูมโหร พงศาวดาร ตำนาน เป็นต้น และ หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน เช่น เจดีย์ ปราสาทหิน เมืองโบราณ วัด เป็นต้น และโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ เงินเหรียญ เป็นต้น มาเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ตีความเพื่อให้ทราบเรื่องราวความเป็นมาในอดีตให้ชัดเจน ยิ่งขึ้น
          * หลักเกณฑ์การแบ่งยุคในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
การแบ่งยุคในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นักวิชาการมีหลักในการแบ่งยุค ดังนี้

-> แบบที่หนึ่ง ให้ความสำคัญในเรื่องของเทคโนโลยีการทำเครื่องมือเครื่องใช้ โดยถือว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ยุค ประกอบด้วย
    
     1. ยุคหิน ซึ่งจำแนกออกเป็นยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ มีอายุประมาณ 500,000 - 4,000 ปีล่วงมาแล้ว
     2. ยุคสำริด มีอายุประมาณ 4,000 - 2500 ปีล่วงมาแล้ว
 
     3. ยุคเหล็ก มีอายุระหว่าง 2,500 - 1,500 ปีล่วงมาแล้ว


-> แบบที่สอง ให้ความสำคัญเรื่องแบบแผนการดำรงชีวิตของผู้คน แบ่งออกได้ 3 ยุค ดังนี้
    
     1. ยุคชุมชนล่าสัตว์ หรือเรียกว่า ยุคชุมชนหาของป่า ยุคนี้จะครอบคลุมช่วงเวลา ประมาณ 500,000 ปี - 6,000 ปีล่วงมาแล้ว
     2. ยุคหมู่บ้านเกษตรกรรม เป็นช่วงที่มนุษย์รู้จักการดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ สังคมยุคนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 6,000 ปี - 2,500 ปีล่วงมาแล้ว
    3. ยุคสังคมเมือง เป็นช่วงที่ชุมชนพัฒนาเป็นสังคมเมือง มีลักษณะเป็นเมืองเล็กๆ สังคมแบบนี้จะถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีล่วงมาแล้ว

แบบทดสอบ
http://quickr.me/V5h7xRo